เทคโนโลยีทางการแพทย์
เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถใช้ได้ในการแพทย์
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่พบบ่อย และเป็นมัจจุราชเงียบที่คร่าชีวิตประชากรโลกในแต่ละปีเป็นอันดับต้นๆ
โรคนี้เกิดจากการที่หลอดเลือดโคโรนารีซึ่งส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตีบแคบหรือถูกอุดกั้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และออกซิเจน เมื่อผู้ป่วยเกิดสภาวะหลอดเลือดอุดตันก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย และหากหลอดเลือดโคโรนารีเกิดการอุดตันอย่างสมบูรณ์ ก็อาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน (Acute heart attack) และเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้น ยิ่งตรวจเจอโรคนี้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยรักษาชีวิตให้ยืนยาวได้มากขึ้นเท่านั้น
ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography) จึงได้รับการพัฒนาอย่างมากจนเป็น Multi slice CT scan (MSCT) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยนวัตกรรมล่าสุด คือ เครื่อง 256-slice multi-detector CT scan ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และด้วยความพร้อมด้านการแพทย์ระดับแนวหน้าผสานกับประสบการณ์การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค วันนี้โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมแล้วที่จะก้าวไปสู่การตรวจรักษาโรคหัวใจแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงสุด 256-slice multi-detector CT scan เครื่องแรกในประเทศไทย
256-slice multi-detector CT scan ได้รับการพัฒนาจากเครื่อง 64-slice CT scan ที่ถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่ปี 2547 แม้ว่าเครื่อง 64- slice CT scan จะสามารถใช้อย่างได้ผลและสะดวกขึ้นเมื่อเทียบกับการตรวจสวนหัวใจ ทั้งยังสามารถบอกปริมาณคราบหินปูนที่จับเกาะอยู่ในผนังหลอดเลือดโคโรนารี ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นตัวพยากรณ์ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบใน อนาคตร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้ แต่เครื่อง 64-slice CT scan ก็ยังมีข้อจำกัดในการตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยที่มีอัตราการเต้น ของหัวใจเร็วกว่า 70 ครั้งต่อนาที หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอื่นๆ
ดีอย่างไร
256-slice multi-detector CT scan สามารถใช้ตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ในผู้ป่วยที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่า 70 ครั้งต่อนาที เครื่องนี้ยังมีข้อดีกว่าคือให้ภาพผลการตรวจที่คมชัดกว่า ครอบคลุมอาณาบริเวณของอวัยวะที่ต้องการตรวจมากกว่า มีความแม่นยำสูง เวลาที่ใช้ในการตรวจน้อยกว่า อีกทั้งการหมุนของเครื่องสแกนต่อรอบกินเวลาเพียง 0.27 วินาที ทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีเอกซเรย์ในการรับการตรวจวินิจฉัยโรคน้อยลงถึง 80%
256-slice multi-detector CT scan จะแสดงภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น หัวใจ ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงจนสามารถใช้ตรวจดูภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจปริมาณการสะสมของหินปูนในผนังหลอดเลือด และความผิดปกติของหลอดเลือดได้ในคราวเดียวกัน ทั้งยังให้ผลเบื้องต้นที่รวดเร็วกว่า เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจน้อยกว่า และข้อมูลจากการตรวจจะได้รับการแปลผลโดยรังสีแพทย์และอายุรแพทย์โรคหัวใจ ทำให้ทราบผลได้เร็ว (ภายในเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงกรณีเร่งด่วน)
เหมาะกับใครบ้าง
การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่อง 256-slice multi-detector CT scan จึงนับเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยที่เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ชัดเจน เพราะวิธีนี้ทำได้รวดเร็วและมีความแม่นยำสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปริมาณคราบหินปูนเกาะอยู่บริเวณผนังของหลอดเลือดโคโรนารีไม่มากนัก
กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ว่าจะเป็นชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะของการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ เครียด ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ว่าควรระมัดระวัง และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคนี้อันตรายถึงชีวิต
การปฏิบัติตัวเพื่อรับการตรวจ
- งดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนการตรวจหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiogram) ในการตรวจหาปริมาณหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือด (calcium scoring)ไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ
- หากมียาที่รับประทานประจำ ให้รับประทานยาได้ตามปกติจนถึงเช้าวันตรวจ
- ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน หลังการตรวจ
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic stem cell transplantation) เป็นวิทยาการความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงหลายชนิดให้มีโอกาสหายขาดได้ โดยความสำเร็จขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และจิตใจของผู้ป่วย การมีผู้บริจาค stem cell ที่เหมาะสม ประสบการณ์ความพร้อม ความเชี่ยวชาญของแพทย์ และพยาบาลผู้ดูแลรักษา และที่สำคัญคือกำลังใจจากบิดามารดา ผู้ปกครอง และญาติพี่น้องของผู้ป่วย หรือจากบุคคลใกล้ชิด
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic stem cells) คืออะไร ?
คือ เซลล์ตัวอ่อน หรือเซลล์ต้นกำเนิด (parent cells) ที่อยู่ในไขกระดูก ซึ่งสามารถเจริญเติบโต และแบ่งตัวพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ คือ
- เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย
- เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่ต่อต้าน และทำลายเชื้อโรคต่างๆ ที่รุกรานร่างกาย
- เกร็ดเลือด มีหน้าที่ห้ามเลือดจากบาดแผล ช่วยให้เลือดหยุดไหล
คือ การเปลี่ยนหรือแทนที่ stem cell ที่ผิดปรกติด้วย stem cell ที่ปรกติ Stem cell ที่ปรกตินั้นได้มาจากผู้บริจาค และนำมาให้แก่ผู้ป่วย (ผู้รับ) หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาขนาดสูง ที่เรียกว่า "การเตรียมสภาพผู้ป่วย" (Conditioning) ซึ่งใช้เวลานาน 5-9 วัน แล้วแต่โรค และสภาพของผู้ป่วย
ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เหตุผลที่ผู้ป่วยต้องได้รับการเตรียมสภาพก็เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังเหลือซ่อนเร้นในร่างกาย ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรม การเตรียมสภาพเพื่อทำให้เกิดที่ว่างในไขกระดูกผู้ป่วย เพื่อให้ stem cell จากผู้บริจาคมีที่ที่จะเจริญเติบโต และเพื่อกดภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไม่ให้ต่อต้าน stem cell ของผู้บริจาค ต่อจากระยะการเตรียมสภาพ จะเป็นระยะเวลาของการปลูกถ่าย โดยการให้ stem cell เข้าไปในตัวผู้ป่วยผ่านทางสายสวนเส้นเลือดดำใหญ่ ด้วยวิธีการคล้ายคลึงกับการให้เลือด (blood transfusion) ไม่จำเป็นต้องฉีดโดยตรงเข้าไปในไขกระดูกผู้ป่วย Stem cell นั้นจะไหลเวียนในกระแสเลือดผู้ป่วย และเข้าไปอยู่ในไขกระดูกได้เอง จากนั้นจะเริ่มเจริญเติบโตต่อไป
ใครควรได้รับการปลูกถ่าย stem cell ?
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคของไขกระดูกหรือความบกพร่องหรือผิดปรกติของเซลล์ในไขกระดูก เช่น โรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง โรคโลหิตจางเบต้าธาลัสซีเมีย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งบางชนิด ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็ง
ต่อมหมวกไต มะเร็งเนื้อเยื่อ - ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคทางพันธุกรรมหรือมีความผิดปรกติทางเมตาบอลิคบางชนิด
แหล่งของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตหาได้จากไหน ?
- ไขกระดูก โดยการเจาะดูดไขกระดูกที่บริเวณกระดูกเชิงกราน (กระดูกสะโพก) ด้านหลัง ผู้บริจาคจำเป็นต้องได้รับการวางยาสลบขณะที่ทำการดูดไขกระดูก หลังการบริจาค เซลล์ในไขกระดูกจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมาทดแทนได้เอง ไม่มีการสูญเสียอวัยวะ หรือสมรรถภาพใดๆ ทั้งสิ้น
- กระแสเลือด โดยฉีดยากระตุ้น G-CSF ให้เซลล์ในไขกระดูกแบ่งตัวเพิ่มจำนวน แล้วออกมาไหลเวียนในกระแสเลือด จากนั้นนำเลือดของผู้บริจาคผ่านเครื่องมือคัดแยก stem cell เก็บไว้ แล้วคืนเลือด และพลาสมากลับสู่ร่างกายผู้บริจาค เป็นวิธีที่ผู้บริจาคจะรู้ตัวดีตลอด ไม่ต้องวางยาสลบ ลักษณะการบริจาคคล้ายคลึงกับการบริจาคโลหิต
- เลือดจากสายสะดือ และรกของเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งวงการแพทย์ค้นพบว่าอุดมไปด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เป็นการนำสิ่งที่เคยถูกละทิ้งไปในอดีตมาทำให้เกิดประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย วิธีการทำโดยการเก็บทันทีหลังจากทารกเพิ่งคลอด และผูกตัดสายสะดือแล้ว ด้วยวิธีปราศจากเชื้อโรค และป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด จากนั้นทำการเตรียม และเก็บสงวน cord blood ไว้ในสภาพแช่แข็งในถังไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิเย็นจัด
ผู้บริจาค stem cell ควรเป็นผู้ที่มีหมู่เนื้อเยื่อ HLA 6 หมู่หลักตรงกันหรือเข้ากันได้กับผู้ป่วยจึงจะมีโอกาสปลูกถ่ายติดสำเร็จสูง และเกิดภาวะแทรกซ้อน Graft-versus-Host disease (GvHD) น้อยหรือไม่เกิดเลย หมู่ HLA หรือ Human Leukocyte Antigen หลักดังกล่าวประกอบด้วย HLA-A, -B, -DR อย่างละ 2 ตำแหน่ง
ผู้บริจาคส่วนใหญ่ที่หาได้มักจะเป็นพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ป่วย เนื่องจากโอกาสที่พี่น้องจะมี HLA ตรงกันทุกประการเท่ากับร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ส่วนตัวบิดามารดาเองจะมี HLA ตรงกับผู้ป่วยเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
ถ้าผู้ป่วยเป็นบุตรคนเดียว หรือไม่มีพี่น้องที่มี HLA ตรงกัน แพทย์สามารถสรรหาผู้บริจาคที่เป็นอาสาสมัคร (Unrelated, volunteer donor) ได้จากศูนย์กลางการขึ้นทะเบียนอาสาสมัครบริจาค stem cell คนไทยที่เรียกว่า National Stem Cell Donor Registry ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเป็นสื่อกลางในการติดต่อแสวงหาผู้บริจาคจากต่างประเทศด้วย
กระบวนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตโดยสังเขป
หลังจากผู้ป่วยได้รับการเตรียมสภาพ และได้รับการปลูกถ่าย ต้องใช้เวลานาน 2-3 สัปดาห์กว่าที่ stem cell ใหม่จะเริ่มปลูกติด ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ในห้องเดี่ยวปลอดเชื้อที่ติดตั้งเครื่องกรองเชื้อโรค ฝุ่นละออง และเป็นแรงดันบวก ผู้ป่วยได้รับการเฝ้าระวังป้องกันรักษาภาวะแทรกซ้อน ต้องได้รับยาป้องกันการติดเชื้อ ต้องได้รับเลือด และเกร็ดเลือดที่ผ่านการเตรียมอย่างพิเศษ ได้รับยาช่วยกระตุ้นการปลูกถ่ายติด และยากดภูมิต้านทานเพื่อป้องกันภาวะ GvHD ผู้ป่วยบางรายต้องได้รับสารอาหารทางหลอดเลือด ผู้ป่วยมักต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลนานประมาณ 6-8 สัปดาห์จึงจะฟื้นตัวแข็งแรงพอที่จะสามารถกลับบ้านได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น